นายกฯ ยืนยันไม่ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายบัตรทอง) ว่ารัฐบาลเตรียมเพื่อจะจัดหาและแก้ไขระบบบริหารจัดการในการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสม และให้งบลงมาสู่บุคคลากรรวมถึงประชาชนให้มากที่สุด

ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาอยู่บ้าง จึงต้องมีนักบริหารจัดการเข้ามาเป็นกรรมการ จะได้รู้หลักบริหารมืออาชีพ และมีตัวแทนทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาล โดยยืนยัน นั่งยัน และนอนยันว่า รัฐบาลไม่มีการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนนักการเมืองที่พูดบิดเบือนนั้น พูดได้อย่างไร ซึ่งวันนี้รัฐบาลปรับขึ้นให้ได้ประมาณ 3,100 บาทต่อหัวถึงจะไม่มากนักแต่มากกว่าเดิม

สธ.แจงครม.แก้กฎหมายบัตรไม่ลิดรอนสิทธิ์ 30 บาท

ขณะที่ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นปัญหาการทำประชาพิจารณ์ การแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ ครม.รับทราบ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามจะ ล้มการทำประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้น 4 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

โดย นายแพทย์ปิยะสกล ได้ชี้แจงว่าการแก้ไขกฎหมายไม่มีการลิดรอนสิทธิของประชาชน และยังมีสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมีเหมือนเดิมทุกประการ มีเพียงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ที่เปลี่ยนแปลงไปคือการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดซื้อยา ซึ่งเป็นหน้าที่เดิมเป็นของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ ตีแผ่ความแตกต่างของร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมและฉบับใหม่ใน 14 ประเด็น พร้อมเชิญให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ารับฟัง ในเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ

กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ยื่น 3 เงื่อนไข ร่วมเวทีแก้กฎหมายบัตรทอง

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยืนยันว่า วันนี้ (21 มิ.ย.) ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 18 คน จะเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะ การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยตั้ง 3 เงื่อนไข คือ

1.ต้องไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตรึงกำลัง หากพบบริเวณสถานที่จัดงาน มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ทางกลุ่มจะเดินทางกลับทันที

2.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะต้องดำเนินการประชุมอย่างเป็นธรรม เปิดให้มีการแสดงความเห็น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ

3. รัฐบาลต้องไม่เร่งรัด นำความเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์และ หารือในเวทีปรึกษาสาธารณะเข้าสู่คณะกรรมการยก ร่างพ.ร.บ.หลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากยังมีเรื่องที่เป็นความเห็นต่างกันอยู่ พร้อมเสนอให้ใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ เพื่อนำเรื่องที่เห็นต่างไปศึกษาข้อมูล โดยอาจเป็นการเปิดประชุมวาระพิเศษ ซึ่งสัดส่วนในสมัชชายังต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง
แหล่งที่มา:ข่าวช่อง 8