“เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หลักเกณฑ์คนทำงานสาธารณสุข ต้องใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมทั้งใน-นอกเวลางาน ชี้ “กระทบดูแลสิทธิผู้ป่วย-ไม่ให้คำปรึกษา-ออนไลน์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ พ.ศ. 2559  ตามที่มาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนําไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรงหรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติ ให้ต้องเปิดเผย โดยแนวปฏิบัติกำหนดว่าให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพต้องเคารพกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เคารพในจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฎระเบียบและนโยบายขององค์กร ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการหลีกเลี่ยงการทําให้ผู้อื่นเสียหาย ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสมควรแจ้งให้เจ้าตัวแก้ไข

ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม หากพบการกระทำที่เป็นการละเมิดผู้ป่วย หรือเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยต้องแจ้งให้ผู้ที่กระทำการดังกล่าวหยุดการกระทำ นอกจากนี้การใช้สื่อออนไลน์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องไม่กระทบ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการสุขภาพแก่ผู้ป่วย และต้องใช้งานโซเชียลอย่างเหมาะสมทั้งในและนอกเวลางาน เพราะการกระทำส่วนตัวนอกเหนือเวลางานย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความเป็นวิชาชีพ ใช้หลักการคิดก่อนโพสต์สิ่งต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบต่อเนื้อหานั้นๆ ก่อน และต้องรับผิดชอบต่อการกระทําของตนทั้งในทางกฎหมาย ทางวินัย ทางจริยธรรม และทางสังคม หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคําที่ไม่สุภาพหรือไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ การเล่าเรื่องขําขันที่ลามกหรือไม่สุภาพ การถ่ายภาพและเผยแพร่ภาพที่อาจแสดงถึงการขาดความเป็นมืออาชีพหรือขาดความเป็นวิชาชีพ การแสดงตัวหรือทําให้เข้าใจได้ว่าเหยียดหยามหรือดูหมิ่นคนบางกลุ่ม และระวังเรื่องการแสดงสัญลักษณ์ระบายอารมณ์ การนินทาบนสื่อออนไลน์ และหัวข้อที่มีความสุ่มเสี่ยงในสังคม ระวังเรื่องการเผยแพร่ภาพ เนื้อหาขณะปฏิบัติหน้าที่ และควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแยกเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวออกจากกัน รวมถึงการไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย ไม่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ระมัดระวังเรื่องการให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์

ที่มา:https://www.dailynews.co.th/politics/564158