เคลียร์ชัด 6 กลุ่มอาการ รักษาฟรี 72 ชม.แรก
นับ 1 กันอีกครั้งกับโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก เริ่ม 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป แต่สิ่งที่ยังถือว่าเป็นปัญหาอยู่คือความเข้าใจในคำนิยาม “ฉุกเฉินวิกฤติ” ของประชาชนกับหมอไม่เหมือนกัน


ปวดท้อง คนไข้ หรือญาติคิดว่าวิกฤติแล้ว แต่แพทย์อาจจะวินิจฉัยว่ายังเป็นอาการที่สามารถรอได้ หรือแม้แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้หลายฝ่ายมีข้อกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมากนั้น รมว.สาธารณสุข ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ทุกเคสที่เกิดอุบัติเหตุจะเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรกได้ทั้งหมด ต้องดูเป็นรายกรณี ๆ ไป เพราะฉะนั้นคนใช้รถ ใช้ถนนทั้งหลายอย่าได้ประมาท เพราะถึงแม้อาการเข้าได้แต่คงไม่คุ้มกับความสูญเสีย

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เจ็บป่วยแบบไหนถึงได้สิทธิ ตามหลักเกณฑ์ของนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้อธิบายชัด ๆ ว่าคือ ระดับฉุกเฉินวิกฤติ คือถ้าไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีก็จะนำมาซึ่งการเสียชีวิต หรือพิการตลอดชีวิต โดยสถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นประมาณ 12 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤติถึง 4 ล้าน ภาวะวิกฤติฉุกเฉินจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มอาการใหญ่ ๆ คือ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

“ร้อยละ 99 ของเคสที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น แพทย์ในห้องฉุกเฉินสามารถประเมินอาการได้อยู่แล้วว่าเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตหรือไม่ ที่เหลือซึ่งอาการอาจจะยังมีความก้ำกึ่ง หรือญาติของผู้ป่วยเกิดความสงสัยอยู่ก็สามารถประสานไปที่ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 0-2872–1669 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการตัดสินของศูนย์ประสานงานฯ จะถือเป็นที่สิ้นสุด”

นพ.อัจฉริยะ ยังบอกอีกว่า ความเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้และเข้าใจเพื่อลดความเข้าใจผิด สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ห่วงโซ่ของการช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ก่อนถึงมือหมอ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต คือ ดังนี้ รับรู้เหตุ แจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่สายด่วน 1669 การปั๊มหัวใจในกรณีจำเป็น และการช็อตด้วยเครื่องการฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือเครื่องเออีดี จากนั้นจะมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามารับ ณ จุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับทราบ

ประการสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือความไว้เนื้อเชื่อใจแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ล้วนต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว ขอให้เชื่อใจ ไว้ใจกัน.

........................................
อภิวรรณ เสาเวียง ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/565552