ตามที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) เตรียมหารือสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ประเด็นข้อเรียกร้องมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4/2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการออกระเบียบหรือกฎกระทรวงเกี่ยวกับการส่งเสริม สุขภาพและป้องกันโรคนั้น

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สปส.เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส.ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนแล้วเสร็จ ทางทางคณะกรรมการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคน เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ เบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

“ผู้ประกัน ตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพนั้น จะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30-39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40-54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปีตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x–ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป” เลขาธิการ สปส. กล่าว